K. Samphan

Archive for December 2012

ความตายของนักอนุรักษ์

leave a comment »

1 Chut Wutty“ผมเป็นพวกชอบทำงานที่เสี่ยงอันตราย ถ้าผมไม่ได้ทำเรื่องพวกนั้น ชีวิตของผมก็คงไม่มีค่าอะไร”

ถึงแม้ ชัต วัตตี (Chut Wutty) จะชอบความเสี่ยง แต่เขาก็คงอยากมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อดูแลผืนป่าของกัมพูชาที่เขาห่วงใยมากกว่าชีวิตของตัวเอง

แต่ลมหายใจของเขาก็ต้องสิ้นสุดลงก่อนเวลาอันควร – ไม่ต่างจากลมหายใจของนักอนุรักษ์อีกหลายร้อยคนบนโลกใบนี้ – ด้วยน้ำมือของการพัฒนา ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความหิวกระหาย และความโลภ

10 ปีที่ผ่านมา โลกใบนี้สูญเสียนักอนุรักษ์ไปแล้วมากกว่า 700 คน ผู้คนเหล่านี้พยายามปกป้องผืนดินและผืนน้ำจากการรุกรานของเงินตราและอำนาจมืด แต่ดูเหมือนว่าความเสียสละของพวกเขาจะไม่มีคุณค่าอันใด เพราะการรุกรานนั้นยังคงทวีความรุนแรงหนักหน่วงไม่เปลี่ยนแปลง

ตามข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ อัตราการทำลายป่าของกัมพูชาอยู่ในอันดับที่ 3 (รองจากไนจีเรียและเวียดนาม) ซึ่งต้นไม้ส่วนใหญ่ที่ถูกตัดนั้นเชื่อว่าอยู่ในเขตป่าสงวน และจุดหมายของมันคือสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศที่นำเข้าไม้โดยผิดกฎหมายมากที่สุดในโลก (ด้วยมูลค่า 3,700 ล้านดอลลาร์ในปี 2008 เพียงปีเดียว)

ชัต วัตตี เริ่มต้นทำงานกับองค์กรอนุรักษ์ระหว่างประเทศ และหลังจากผิดหวังกับความล้มเหลวในการยุติการค้าไม้โดยผิดกฎหมายซึ่งนำเงินเข้ากระเป๋าของเศรษฐีชาวกัมพูชาและหุ้นส่วนชาวจีน เขาก็ก่อตั้ง Natural Resource Protection Group (NRPG) เพื่อทำงานด้านการอนุรักษ์ด้วยตัวเอง โดยมีพื้นที่เป้าหมายคือ Prey Long ป่าไม่ผลัดใบบริเวณพื้นที่ต่ำที่ใหญ่ที่สุดในอินโดจีน

ในปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวกำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากการลักลอบตัดไม้ ชัต วัตตี กับชาวบ้านร่วมกันดูแลพื้นที่ป่าโดยการก่อตั้งหน่วยลาดตระเวนเพื่อต่อสู้กับกลุ่มผู้ลักลอบตัดไม้ นอกจากนี้ เขายังพยายามนำการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเข้าสู่บริเวณเทือกเขา Cardamom (ซึ่งเชื่อมต่อกับเทือกเขาบรรทัดในจังหวัดตราด) พื้นที่ขนาด 14,354 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้มีนกอาศัยอยู่อย่างน้อย 450 ชนิด และเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ 50 ชนิด รวมทั้งเสือลายเมฆ (clouded leopard) และจระเข้น้ำจืด (Siamese crocodile)

แต่ภัยคุกคามที่รุนแรงกว่านายทุนภายในประเทศคือโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งของนายทุนชาวจีน ซึ่งต้นไม้หลายพันต้นจะถูกตัดโดยถูกกฎหมาย ชัต วัตตี ตระหนักดีว่าการก่อสร้างดังกล่าวเป็นที่มาของหายนภัยครั้งใหญ่ โดยการลักลอบตัดไม้ในเขตป่าสงวนและลากไม้เหล่านั้นเข้าไปในพื้นที่ก่อสร้าง ก่อนที่มันจะถูกขนลงเรือในฐานะไม้ที่ถูกกฎหมาย

ไม้เนื้อแดงของกัมพูชากำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก มันมีราคาสูงถึงต้นละ 24,000 ดอลลาร์ และขณะนี้มันก็เหลืออยู่ในป่าเพียงไม่กี่ต้น

วันที่ 26 เมษายน 2012 ขณะที่ ชัต วัตตี กับผู้สื่อข่าวชาวแคนาดาและเพื่อนร่วมงานชาวกัมพูชา กำลังถ่ายรูปบริเวณที่กำลังมีการตัดไม้ในเทือกเขา Cardamom พวกเขาก็เผชิญหน้ากับพนักงานรักษาความปลอดภัยของบริษัทของชาวกัมพูชาที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลกัมพูชาในการตัดไม้บริเวณพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ พวกเขาต้องการกล้องถ่ายรูป แต่วัตตีปฏิเสธ มีการโต้เถียงเกิดขึ้น รถของวัตตีถูกกีดขวาง ก่อนที่จะตามมาด้วยเสียงปืน

สาเหตุการเสียชีวิตของ ชัต วัตตี ยังคงคลุมเครือ และการพิจารณาคดีในศาลก็ยังคงไม่เกิดขึ้น

IMAGE ปีที่ 25 ฉบับที่ 11 (พฤศจิกายน 2555)

Written by ksamphan

December 14, 2012 at 3:11 am

Posted in Neighbours Matters