K. Samphan

Archive for December 2011

24 Things to Know about Steve Jobs

with one comment

1. สตีเวน พอล “สตีฟ” จ็อบส์ เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1955 ที่ซานฟรานซิสโก พ่อของเขาคือ อับดุลฟาตะห์ “จอห์น” แจนดาลี (ชาวซีเรีย) ส่วนแม่ของเขาคือ โยแอน แคโรล ซีเบิล (นามสกุลปัจจุบันคือ ซิมป์สัน) ทั้งคู่พบกันขณะเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน

2. จ็อบส์ได้รับการเลี้ยงดูโดย พอล จ็อบส์ และ คลารา จ็อบส์ (นามสกุลเดิมคือ ฮาโกเปียน) ทันทีหลังจากเกิด เนื่องจากพ่อของโยแอนไม่ยอมให้เธอแต่งงานกับจอห์น พอลเป็นช่างเครื่องของบริษัทผลิตเลเซอร์ ส่วนคลาราเป็นนักบัญชี

3. ปี 1995 จ็อบส์ถูกถามว่าอะไรคือสิ่งที่เขาต้องถ่ายทอดไปสู่ลูกๆ ของเขามากที่สุด เขาตอบว่า “ผมเพียงแค่พยายามเป็นพ่อที่ดีของพวกเขาอย่างที่พ่อของผมเป็น ผมคิดถึงเรื่องนี้อยู่ทุกวัน” เมื่อถูกถามเกี่ยวกับพ่อและแม่บุญธรรม เขาตอบอย่างหนักแน่นว่าพอลและคลารา “คือพ่อและแม่ของผม”

4. ปี 1970 จ็อบส์ได้พบกับ สตีฟ วอซเนียก ในห้องเรียนวิชาอิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้นที่โรงเรียนมัธยมโฮมสเตด ทั่งคู่ช่วยกันผลิตและขายอุปกรณ์ที่ทำให้สามารถโทร.ทางไกลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (แต่ผิดกฎหมาย) วอสเนียกใช้เทคโนโลยีนี้โทร.หาพระสันตะปาปาที่กรุงโรม โดยอ้างว่าเขาคือ เฮนรี คิสซิงเจอร์

5. ปี 1972 จ็อบส์เข้าเรียนที่วิทยาลัยรีดหนึ่งภาคการศึกษาก่อนจะลาออก แต่หลังจากนั้นอีก 18 เดือน (โดยอาศัยพื้นห้องของเพื่อนเป็นที่นอน เก็บขวดโค้กไปแลกกับเงินค่าอาหาร และกินอาหารฟรีสัปดาห์ละมื้อที่วัดพระกฤษณะ) เขาก็ยังคงเข้าไปนั่งเรียนในบางวิชา ซึ่งรวมถึงวิชาคัดลายมือ (calligraphy)

6. จ็อบส์เคยบอกว่า “ถ้าผมไม่ได้เข้าไปนั่งเรียนวิชานั้น (คัดลายมือ) ในวิทยาลัย แมคก็คงไม่มีตัวพิมพ์หลากหลายรูปแบบหรือตัวพิมพ์ที่มีช่องไฟในสัดส่วนที่เหมาะสม”

7. ปี 1974 จ็อบส์ได้งานเป็นช่างเทคนิคที่บริษัทอะตารี (Atari, Inc.) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตวิดีโอเกมส์และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เขาตั้งใจว่าจะเก็บเงินไว้ใช้เดินทางไปค้นหาทางด้านจิตวิญญาณที่อินเดีย ในช่วงนี้เขาทดลองใช้แอลเอสดี ซึ่งเขาบอกว่าเป็น “หนึ่งในสองหรือสามสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผมได้ทำในชีวิต”

8. ปี 1976 จ็อบส์ วอซเนียก และ โรนัลด์ เวน ร่วมกันก่อตั้งแอปเปิลในวันเอพริลฟูลส์ และเริ่มต้นผลิตคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของแอปเปิลในโรงรถที่บ้านของจ็อบส์

9. ปี 1979 จ็อบส์ได้เห็นจอภาพและเมาส์ภายในศูนย์วิจัยของบริษัทซีรอกซ์ ซึ่งเขานำมันมาประยุกต์ใช้กับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล อันนำมาสู่ Apple Lisa (ล้มเหลวในแง่ยอดขาย แต่เป็นรุ่นที่บุกเบิกในด้านการใช้จอภาพเชื่อมระหว่างผู้ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์) ในปี 1983 และ Macintosh (ด้วยจอภาพและเมาส์ แมคคือรุ่นที่ให้คำจำกัดความใหม่ของคอมพิวเตอร์) ในปีถัดมา

10. จ็อบส์ปฏิเสธที่จะให้การดูแลลิซาในฐานะพ่อ โดยอ้างว่าเขาเป็นหมัน แม้ว่าแม่ของเธอ (คริส-แอน เบรนแนน แฟนของจ็อบส์สมัยเรียนมัธยม) ต้องดำรงชีพด้วยเงินช่วยเหลือจากรัฐเป็นเวลาถึงสองปี จ็อบส์ถูกฟ้องให้จ่ายเงินช่วยเหลือสองแม่ลูก และเรื่องนี้ก็ทำให้เขาไม่ได้ขึ้นปกนิตยสาร Time ในฐานะบุรุษแห่งปี 1982

11. วันที่ 20 มีนาคม 1983 บนระเบียงฝั่งตะวันตกของอพาร์ตเมนต์ริมฝั่งแม่น้ำฮัดสันในนครนิวยอร์ก จ็อบส์นิ่งมองสายน้ำ ก่อนจะกล่าวคำเชื้อเชิญที่น่าเย้ายวนที่สุดกับชายที่ยืนอยู่ข้างๆ – จอห์น สคัลลีย์ ผู้บริหารของเป๊ปซี่ ซึ่งก่อนหน้านี้จ็อบส์ใช้เวลานานหลายเดือนในการชักชวนให้มาร่วมงานกับเขาที่แอปเปิล – ว่า “คุณอยากจะใช้เวลาที่เหลือของชีวิตเพื่อขายน้ำหวาน หรือคุณอยากจะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงโลก?”

12. ถึงแม้จะเป็นผู้บริหารมากบารมี แต่พนักงานจำนวนหนึ่งในเวลานั้นก็มองว่าจ็อบส์เป็นผู้จัดการที่อารมณ์แปรปรวนเอาแน่เอานอนไม่ได้ และจากยอดขายที่ตกต่ำของแอปเปิลในช่วงปลายปี 1984 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับสคัลลีย์ย่ำแย่ ในวันที่ 24 พฤษภาคม 1985 คณะกรรมการบริษัทก็ปลดจ็อบส์จากตำแหน่งหัวหน้าแผนกแมคอินทอช จ็อบส์ลาออกจากแอปเปิลในอีกห้าเดือนต่อมา และตั้งบริษัทเน็กซต์ (Next, Inc.) ขึ้นในปีเดียวกัน

13. ปี 1986 จ็อบส์ซื้อ The Graphics Group (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพิกซาร์) จากแผนกคอมพิวเตอร์กราฟิกของลูคัสฟิล์ม ในราคา 10 ล้านดอลลาร์ ความตั้งใจแรกเริ่มของบริษัทแห่งนี้คือการเป็นผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์ด้านกราฟิกคุณภาพสูง แต่หลังจากไม่ประสบความสำเร็จกับ Pixar Image Computer บริษัทก็เซ็นสัญญากับดิสนีย์เพื่อร่วมกันผลิตภาพยนตร์แอนิเมชัน โดยดิสนีย์จะเป็นผู้ร่วมลงทุนและเป็นผู้จัดจำหน่าย

14. ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกของสตูดิโอพิกซาร์ (และของโลก) คือ Toy Story (1995) มันทำรายได้ทั้งหมด 29 ล้านดอลลาร์พร้อมกับเสียงยกย่องชื่นชม โดยมีจ็อบส์นั่งอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารการผลิต (executive producer)

15. จ็อบส์แต่งงานกับ ลอรีน พาเวลล์ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 1991 โดยมีประธานในพิธีเป็นพระเซนชื่อ โกบัน ชิโน โอโตกะวะ ทั้งคู่มีลูกชายหนึ่งคนและลูกสาวสองคน

16. วันที่ 10 ธันวาคม 1996 แอปเปิลประกาศซื้อเน็กซต์ในราคา 429 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้จ็อบส์ได้กลับสู่บริษัทที่เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอีกครั้ง และในช่วงปี 1998-1999 จ็อบส์ในฐานะซีอีโอ “รักษาการ” คนใหม่ของแอปเปิล ก็เริ่มนำบริษัทกลับเข้ามาอยู่ในแผนที่อีกครั้งด้วยคอมพิวเตอร์สีลูกกวาดอย่าง iMac

17. วันที่ 23 ตุลาคม 2001 ด้วยความหลงใหลในเดอะบีตเทิลส์และ บ็อบ ดีแลน จ็อบส์เคลื่อนเข้าสู่ธุรกิจดนตรีพร้อมกับ iPod ซึ่งจะนำ “เพลง 1,000 เพลงเข้ามาอยู่ในกระเป๋าของคุณ”

18. ในรายการ 60 Minutes จ็อบส์ถูกถามเกี่ยวกับรูปแบบทางธุรกิจของเขา เขาตอบว่า “รูปแบบทางธุรกิจของผมคือเดอะบีตเทิลส์ พวกเขาทั้งสี่คนต่างควบคุมทิศทางที่จะนำไปสู่สิ่งที่ไม่ดีซึ่งกันและกัน พวกเขาสร้างสมดุลระหว่างกัน และผลลัพธ์สุดท้ายนั้นจะมากกว่าผลรวมของแต่ละส่วน สิ่งที่ยิ่งใหญ่ทางธุรกิจไม่มีทางเกิดขึ้นได้โดยคนคนเดียว มันเกิดขึ้นได้ด้วยการทำงานเป็นทีม”

19. วันที่ 1 สิงหาคม 2004 จ็อบส์ประกาศว่าเขาได้รับการผ่าตัดเนื้อร้ายออกจากตับอ่อน เขากล่าวว่าเขาเป็นมะเร็งตับอ่อนชนิดที่พบได้ยาก และเขายังไม่มีความตั้งใจจะหยุดพักจากงาน

20. วันที่ 12 มิถุนายน 2005 ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ช่วงหนึ่งของสุนทรพจน์ในวันรับปริญญา จ็อบส์กล่าวว่า “เวลาของคุณมีจำกัด ดังนั้นอย่าทำให้มันเปล่าประโยชน์ด้วยการใช้ชีวิตของคนอื่น อย่าตกเป็นทาสของกฎเกณฑ์ ซึ่งนั่นก็คือการใช้ชีวิตตามความคิดของคนอื่น อย่าปล่อยให้เสียงทัศนคติของคนอื่นดังกลบเสียงของหัวใจเราเอง และที่สำคัญที่สุดก็คือ คุณต้องกล้าเดินไปบนเส้นทางที่หัวใจและสัญชาตญาณเรียกร้อง เพราะสองสิ่งนี้รู้อยู่แล้วว่าคุณอยากเป็นอะไร ทุกอย่างที่เหลือล้วนเป็นเรื่องรองทั้งนั้น”

21. วันที่ 9 มกราคม 2007 จ็อบส์เปิดตัว iPhone โทรศัพท์มือถือในรูปแบบจอสัมผัส ซึ่งมาพร้อมกับความก้าวหน้าสามด้าน นั่นคือ บางกว่า เร็วกว่า และมีพลังมากกว่า จนถึงปัจจุบัน iPhone ถูกขายไปแล้วมากกว่า 100 ล้านเครื่องทั่วโลก

22. วันที่ 27 มกราคม 2010 จ็อบส์แนะนำให้โลกรู้จักกับ iPad คอมพิวเตอร์แทบเล็ตแบบจอสัมผัส ชื่อของมันถูกหัวเราะเยาะในช่วงเปิดตัว และหลายคนบอกว่ามันเติมเต็มความต้องการที่ไม่มีอยู่จริง แต่ไม่นานหลังจากนั้น มันก็ครอบครองตลาดคอมพิวเตอร์แทบเล็ต ก่อนที่แอปเปิลจะเปิดตัวเวอร์ชันที่สองในเดือนมีนาคม 2011

23. จ็อบส์รับเงินตอบแทนปีละ 1 ดอลลาร์ในฐานะซีอีโอของแอปเปิล แต่เขามีหุ้นของแอปเปิล 5.426 ล้านหุ้น และมีหุ้นของดิสนีย์ 138 ล้านหุ้น (ซึ่งเขาได้รับจากการขายพิกซาร์ให้กับดิสนีย์) นิตยสาร Forbes คำนวณว่าจ็อบส์มีทรัพย์สินโดยสุทธิ 8,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2010 ซึ่งทำให้เขาอยู่ในลำดับที่ 42 ของชาวอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุด

24. จ็อบส์เสียชีวิตที่บ้านในแคลิฟอร์เนีย เมื่อเวลาประมาณ 3 นาฬิกาของวันที่ 5 ตุลาคม 2011 ครอบครัวของเขาแจ้งว่าเขา “เสียชีวิตอย่างสงบ”

IMAGE ปีที่ 24 ฉบับที่ 12 (ธันวาคม 2554)

Written by ksamphan

December 29, 2011 at 7:23 am

Posted in Neighbours Matters

เรื่องของผู้หญิง

with one comment

หน้าปกของนิตยสาร Newsweek ฉบับวันที่ 26 กันยายน 2554 เป็นรูปของ ดิลมา รูส์ซีฟฟ์ (Dilma Rousseff) ประธานาธิบดีของบราซิล ในโอกาสที่เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประจำปี 2011 เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา Newsweek ฉบับนี้จึงรวบรวมข่าวดีและข่าวร้ายเกี่ยวกับผู้หญิงทั่วโลกมาให้อ่านกันเพลินๆ

ข่าวดีสำหรับผู้หญิง

  • ผู้หญิงในสหรัฐอเมริกาแซงหน้าผู้ชายสำหรับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย โดยร้อยละ 36 ของผู้หญิงในช่วงอายุ 25-29 ปีเรียนจบปริญญาตรี ขณะที่ผู้ชายมีเพียงร้อยละ 28
  • ผู้หญิงได้รับการเลือกตั้งในจำนวนเท่ากับผู้ชาย สำหรับการเลือกตั้งของตูนิเซียเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม หลังจากที่ชาวตูนิเซียขับไล่อดีตประธานาดิบดีเบน อาลี ออกจากอำนาจได้สำเร็จ
  • จากการทดสอบ เครื่องเอกซเรย์เต้านมแบบสามมิติมีประสิทธิภาพดีกว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 7 สำหรับการตรวจหาเนื้อร้าย
  • หลังจากชนะคดีที่ถูกพนักงานของบริษัทยื่นฟ้องเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ วอลมาร์ตก็มีโครงการซื้อสินค้าจากธุรกิจที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์ และจะบริจาคเงิน 100 ล้านดอลลาร์ให้กับองค์กรไม่แสวงกำไรของผู้หญิง
  • หลังจากสื่อมวลชนรายงานว่าเกิดเหตุรุนแรงมากขึ้นภายในประเทศ รัฐบาลของตุรกีก็ประกาศว่าผู้กระทำผิดจะถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าบ้าน และจะถูกติดตามด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
  • เบท มูนีย์ (Beth Mooney) ได้รับการแต่งตั้งเป็นซีอีโอของธนาคารคีย์คอร์ป ซึ่งทำให้เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของธนาคารที่ดีที่สุด 20 อันดับแรกของสหรัฐอเมริกา

ข่าวร้ายสำหรับผู้หญิง 

  • ผู้ชายในสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้เร็วกว่าผู้หญิง โดยพวกเขาได้งานทำ 768,000 ตำแหน่ง ขณะที่ผู้หญิงสูญเสียงานไป 218,000 ตำแหน่ง
  • ภาวะอดอยากอย่างมโหฬารในแถบตะวันออกของแอฟริกาส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้หญิง เนื่องจากพวกเธอคือประชากรร้อยละ 80 ของผู้ลี้ภัย
  • ครึ่งปีแรกของปี 2011 สภานิติบัญญัติของแต่ละรัฐในสหรัฐอเมริกาได้ผ่านกฎหมายควบคุมการทำแท้งและกฎหมายที่ส่งผลเสียต่อการวางแผนครอบครัวมากกว่า 50 ฉบับ
  • แอมเนสตี้รายงานว่าในปี 2010 ผู้หญิงในลาตินอเมริกาเสียชีวิตจากการถูกใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในอาร์เจนตินาประเทศเดียว มีผู้หญิงเสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าว 210 คน โดยร้อยละ 64 เป็นฝีมือของคู่รักเก่าของพวกเธอ
  • แม้ว่าเยอรมนีจะพยายามผลักดันให้ผู้หญิงเข้าไปอยู่ในกำลังแรงงานมากขึ้น แต่บริษัทที่มีผลประกอบการดีที่สุดของประเทศทั้ง 30 แห่งก็ยังคงบริหารงานโดยผู้ชาย
  • รายงานเกี่ยวกับการฟื้นฟูเฮติหลังการเกิดแผ่นดินไหวระบุว่าผู้หญิงและเด็กผู้หญิงถูกละเลยจากความช่วยเหลือในด้านต่างๆ แทบจะโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ยังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและไม่มีโอกาสได้รับการดูแลในด้านการทำคลอด

IMAGE ปีที่ 24 ฉบับที่ 11 (พฤศจิกายน 2554)

Written by ksamphan

December 4, 2011 at 5:31 am

Posted in Neighbours Matters

โทรศัพท์กับสติปัญญา

leave a comment »

ผลสำรวจของนีลเซน (Nielsen) ระบุว่าชาวอเมริกันในช่วงอายุ 13-17 ปี ส่งและรับข้อความโดยเฉลี่ย 3,339 ครั้งต่อเดือน ซึ่งหากเป็นวัยรุ่นหญิงเพศเดียว ตัวเลขนี้จะมากกว่า 4,000 ครั้งต่อเดือน

ดูเหมือนว่าวัยรุ่นเหล่านี้จะเป็นนักอ่านผู้หิวโหย และเป็นนักเขียนจอมขยัน

แต่ตอนนี้ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันบางคนกำลังวิตกกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมของ ‘ลูกหลาน’ ของพวกเขา เพราะสิ่งที่อยู่ในมือของวัยรุ่นทั้งหลายคือโทรศัพท์ – ไม่ใช่หนังสือ

ผลสำรวจของกองทุนสนับสนุนการทำงานศิลปะ (National Endowment for the Arts: NEA) ระบุว่าชาวอเมริกันในช่วงอายุ 18-24 ปีที่อ่านหนังสือ (ยกเว้นที่ถูกบังคับให้อ่านโดยโรงเรียนหรือที่ทำงาน) มีเพียงร้อยละ 50.7 ซึ่งต่ำกว่าทุกช่วงอายุของวัยผู้ใหญ่ (อายุไม่เกิน 75 ปี) และลดลงจากร้อยละ 59 เมื่อ 20 ปีก่อน

ย้อนกลับไปในปี 2004 ผลสำรวจของเอ็นอีเอระบุว่ามีเด็กอายุ 13 ปีน้อยกว่า 1 ใน 3 ที่อ่านหนังสือเพื่อการพักผ่อนทุกวัน และมีนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งถึง 2 ใน 3 ที่อ่านหนังสือเพื่อการพักผ่อนน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ยิ่งไปกว่านั้น มี 1 ใน 3 ของรุ่นพี่ของพวกเขาที่ไม่อ่านหนังสือเพื่อการพักผ่อนเลย

ตอนนี้ช่องว่างของความสามารถในการอ่านของเด็ก (อายุ 15 ปี) ชาวอเมริกันกับเด็กในเซี่ยงไฮ้ เซอร์เบีย หรือชิลี ไม่แตกต่างกันมากนัก

นีล เฟอร์กูสัน (Niall Ferguson) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการเงิน ย้ำเตือนว่า เด็กๆ ที่ไม่อ่านหนังสือ พวกเขาจะถูกตัดขาดจากอารยธรรมของบรรพบุรุษ และประเทศจะต่อกรกับคู่ต่อสู้ในระดับโลกอย่างไรในอนาคต

ขนาดเด็กๆ ในอเมริกายังขนาดนี้ ไม่อยากนึกถึงเด็กๆ ในประเทศแถวนี้เลยจริงๆ

IMAGE ปีที่ 24 ฉบับที่ 11 (พฤศจิกายน 2554)

Written by ksamphan

December 4, 2011 at 5:27 am

Posted in Neighbours Matters