K. Samphan

ผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีน

leave a comment »

เมื่อครั้งที่รองประธานาธิบดี โจเซฟ ไบเดน (Joseph Biden) เดินทางเยือนจีนเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เขาใช้เวลาหลายชั่วโมงในการดื่มชาและพูดคุยกับรองประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ช่วงหนึ่งของการสนทนา สีบอกกับไบเดนว่าพ่อ – ซึ่งเป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี – และญาติพี่น้องของเขาได้รับความทุกข์ทรมานจากการปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่านั่นเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อันเลวร้ายของประเทศ

ตามคำบอกเล่าของผู้ที่เชื่อถือได้ เจ้าหน้าที่แปลภาษาชาวจีนมีสีหน้าสับสนอย่างเห็นได้ชัดกับคำพูดดังกล่าวของสี ซึ่งเขาไม่เคยถ่ายทอดมันเป็นภาษาอังกฤษมาก่อน

ความตรงไปตรงมาเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ยากในหมู่เจ้าหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ “สีสื่อสารกับผู้นำจากต่างชาติอย่างค่อนข้างเปิดเผย” เจ้าหน้าที่ทูตชาวยุโรปคนหนึ่งให้ความเห็นหลังจากได้พบกับสีเมื่อปีที่แล้ว “เขาค่อนข้างจะวิพากษ์วิจารณ์การปฏิวัติวัฒนธรรม โดยกล่าวว่านั่นเป็นสิ่งที่ผิดพลาด ซึ่งเป็นเรื่องแปลกสำหรับผม”

สี จิ้นผิง ในวัย 57 ปี คือผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขาคือคนสำคัญที่สุดในกลุ่มผู้นำรุ่นต่อไปของจีน หรือที่เรียกกันว่ากลุ่มผู้นำ ‘รุ่นที่ 5’ ซึ่งจะก้าวขึ้นมาทำหน้าที่ภายหลังการผลัดเปลี่ยนอำนาจครั้งใหญ่ของพรรคที่จะเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้

เมื่อการประชุมใหญ่ของพรรคครั้งที่ 18 เดินทางมาถึง โฉมหน้าของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนจำนวน 370 คนจะมีการเปลี่ยนแปลงถึงร้อยละ 60 เกมสับเปลี่ยนอำนาจเกมนี้มีความหมายว่าผู้เล่นคนสำคัญในการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจและการเงิน นโยบายต่างประเทศ ความมั่นคง และการทหาร “หลังจากปี 2012 ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เล่นหน้าใหม่” ตามความเห็นของ เฉิง ลี่ (Cheng Li) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนของสถาบันบรูกกิงส์

การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่เกิดขึ้นน้อยครั้งมากในจีน นับตั้งแต่ปี 1949 มันเกิดขึ้นเพียงสามครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในทศวรรษ 1960 ซึ่งจบลงด้วยการขับไล่กวาดล้างปัญญาชนครั้งใหญ่ และสภาวะอนารยะของการปฏิวัติวัฒนธรรม ครั้งที่สองเกิดขึ้นในปลายทศวรรษ 1980 เมื่อผู้นำระดับสูงหลายคนไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน – อันนำไปสู่การนองเลือด – และการเปลี่ยนผ่านครั้งล่าสุดคือการสืบทอดตำแหน่งผู้นำสูงสุดต่อจาก เจียง เจ๋อหมิน (Jiang Zemin) ของ หู จิ่นเทา (Hu Jintao) เมื่อปี 2002 ซึ่งเป็นการส่งมอบอำนาจที่ราบรื่นอย่างน่าประทับใจ แต่นั่นเป็นเพียงแผนการส่งมอบอำนาจที่ดำเนินไปตามสคริปต์ของพรรคคอมมิวนิสต์

การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปี 2012 มีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น ในปัจจุบัน พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกอบด้วยสองกลุ่มหลักที่กำลังขับเคี่ยวแข่งขันกันอย่างเข้มข้น ซึ่งอาจเรียกกว้างๆ ได้ว่ากลุ่ม ‘ประชานิยม’ (populist) กับกลุ่ม ‘ชนชั้นนำ’ (elitist) กลุ่มประชานิยมซึ่งนำโดยประธานาธิบดีหูนั้นยึดโยงอยู่กับสมาชิกของสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ (Communist Youth League) ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ กลุ่มนี้มีนโยบายหลักคือการลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในภาคตะวันตกของประเทศ ขณะที่กลุ่มชนชั้นนำมุ่งเน้นที่การใช้กลไกตลาดเสรีขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งภาคตะวันออก

การขับเคี่ยวระหว่างทั้งสองกลุ่มเห็นได้ชัดเจนในการประชุมใหญ่ของพรรคครั้งที่ 17 เมื่อปี 2007 เมื่อหูเลือก หลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) เป็นผู้รับตำแหน่งต่อจากเขา แต่ฝ่ายชนชั้นนำสนับสนุนสี เพื่อการหาทางออกที่ประนีประนอมที่สุด ผู้นำคนต่อไปจึงถูกเลือกโดยการเลือกตั้งของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งระดับรากหญ้าและระดับอาวุโส ซึ่งผลก็คือสีได้รับคะแนนมากกว่า (หลี่ เค่อเฉียง ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปเป็นการทดแทน)

ในปี 2012 ผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีนซึ่งกล่าวกันว่าเป็นนักการเมือง ‘สมัยใหม่’ กลุ่มแรกของประเทศ จะก้าวขึ้นมายืนอยู่ตรงกลางเวที พวกเขามีบุคลิกหลายอย่างที่แตกต่างจากนักการเมือง ‘รุ่นเก่า’ ซึ่ง สี จิ้นผิง ได้แสดงให้ชนชั้นนำของประเทศต่างๆ ได้เห็นมาบ้างแล้ว แต่ปัญหาของสังคมจีน (และสังคมอื่นๆ ในโลก) ไม่ได้สนใจว่ามันจะต้องพบเผชิญกับผู้คนหน้า ‘เก่า’ หรือหน้า ‘ใหม่’ และในทัศนะของนักวิเคราะห์ ความเชื่อมั่นในตนเองของ ‘คนรุ่นใหม่’ อย่างสีและเพื่อนพ้อง หมายความว่าเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาความคิดของพวกเขา และมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่การก้าวขึ้นมามีอำนาจของพวกเขาจะก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทั้งภายในและภายนอกประเทศ

IMAGE ปีที่ 25 ฉบับที่ 4 (เมษายน 2555)

Written by ksamphan

May 1, 2012 at 8:17 am

Posted in Neighbours Matters

Leave a comment