K. Samphan

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

with one comment

ประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ถูกบันทึกไว้ค่อนข้างละเอียดในบันทึกของมหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันทน์) ซึ่งผู้เขียนระบุว่าเป็นการสืบสาวเรียบเรียงและสันนิษฐานจากภาพวาดบนฝาผนังโบสถ์วัดอินทรวิหาร (ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ใกล้สี่แยกบางขุนพรหม) ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ให้ช่างเขียนเอาไว้

บันทึกของพระยาทิพโกษาระบุว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์เกิดเมื่อวันพุธ เดือน 6 ปีวอก อัฏฐศก จุลศักราช 1138 (พ.ศ. 2319) บนเรือนซึ่งปลูกอยู่ที่บางขุนพรหม (ในขณะที่ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่าท่านเกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก ซึ่งตรงกับวันที่ 17 เมษายน 2331 ที่บ้านท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)  ในบันทึกระบุว่าท่านเป็นโอรสนอกเศวตฉัตรของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งทรงพระยศเป็นเจ้าพระยาจักรี  โยมมารดาของท่านชื่อนางงุด ลูกของนายผลกับนางลา ชาวบ้านเมืองกำแพงเพชร  เมื่อแรกเกิด ท่านมีชื่อว่า “โต”

เมื่อมีอายุได้ 7 ปี โยมมารดาได้พาท่านไปถวายตัวเป็นศิษย์ของท่านพระครูใหญ่ เมืองพิจิตร (ตาผล ยายลา นางงุด ประกอบอาชีพค้าขายทางเรือจนมีทรัพย์สินพอสมควร และได้ย้ายมาปลูกบ้านอยู่บริเวณเหนือเมืองพิจิตร)  ก่อนที่ท่านจะบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อมีอายุได้ 13 ปี (ปีวอก สัมฤทธิศก จุลศักราช 1150)

สามเณรโต “อุตสาห์เล่าเรียนคัมภีร์มูละกัจจายนะปกรณ์… เรียนบาลีไวยากรณ์… ท่าน(พระครู)บอกกะละเม็ดต่างๆ หลายอย่างหลายประการ ออกป่าเข้าบ้านทดลองวิชาความรู้… จนคล่องแคล่วชำนิชำนาญใช้ได้ดังประสงค์ทุกอย่าง”  ต่อจากนั้น สามเณรโตได้ไปเป็นศิษย์ของพระครูวัดเมืองไชยนาถซึ่งเชี่ยวชาญคัมภีร์พระปริยัติธรรม “ครั้งล่วงมาได้ ๓ ปีเรียนจนถึงแปดปั้นบาฬี สามเณรโตไม่มีอุปสรรคกีดกั้น ไม่มีอาการเจ็บป่วยไข้สะดวกดีทุกเวลาทั้งไม่เบื่อไม่หน่าย นิยมอยู่แต่ที่จะหาความจริงซึ่งยังบกพร่องภูมิปัญญาอยู่ร่ำไป”

เมื่อมีอายุได้ 17 ปี สามเณรโตก็ตัดสินใจไปศึกษาเล่าเรียนต่อที่กรุงเทพฯ โดยความเห็นชอบของพระครูทั้ง 2 ท่าน  คณะของสามเณรโตล่องเรือมาถึงท่าน้ำวัดบางลำพูบน “ตอนเวลาเช้า ๒ โมง แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช ๑๑๕๕ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพพระมหานคร”  และตาผลได้นำสามเณรโตไปถวายตัวเป็นศิษย์ของพระอาจารย์แก้ว วัดบางลำพูบน

ที่กรุงเทพฯ สามเณรโตได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ 2) ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่วัดนิพพานาราม (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ในปัจจุบัน) โดยศึกษาเล่าเรียนกับสมเด็จพระสังฆราช (มี) และพระอาจารย์เสม  กระทั่งเมื่อสามเณรโตมีอายุครบ 21 ปี (“เดือน ๖ ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๑๑๕๙ เป็นปีที่ ๑๖ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพพระมหานครฯ”) จึงอุปสมบทเป็นภิกษุที่วัดตะไกร จังหวัดพิษณุโลก ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ โดยมีสมเด็จพระวันรัต วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์

ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานสมณศักดิ์ถวายแก่ภิกษุโตเป็นพระธรรมกิตติในปี 2395  ต่อมาในปี 2397 ท่านจึงได้รับการสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ (“มีนิตยภัตร ๒๘ บาท ค่าข้าว ๑ บาท”)  หลังจากนั้นอีก 10 ปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เมื่อ “ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗” โดย “รับหิรัญบัตรมีฐานา ๑๐ มีนิตยภัตร ๓๒ บาท ค่าข้าวสาร ๑ บาทต่อเดือน”)

เรื่องเล่าเกี่ยวกับสมเด็จพระพุฒาจารย์เรื่องหนึ่งที่ยังคงบอกกล่าวเล่าขานสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันก็คือเรื่องของนางนาก บ้านพระโขนง  บันทึกของพระยาทิพโกษาระบุว่า เมื่อนางนากเสียชีวิต วิญญาณของนางนากได้มารบกวนจนผัวของนางมีเมียใหม่ไม่ได้ อีกทั้งคนที่เดินทางสัญจรทางเรือในคลองพระโขนงต่างก็ถูกวิญญาณของนางล้อเล่นจนหวาดกลัวไปตามๆ กัน “พวกหมอผีไปทำเป็นผู้มีวิเศษตั้งพิธีผูกมัดเรียกภูตมัน มันก็เข้ามานั่งแลบลิ้นเหลือกตาเอา เจ้าหมอต้องเจ๊งมันมาหลายคน จนพวกแย่งพวกชิงล้วงลัก ปลอมตัวเป็นนางนาค หลอกลวงเจ้าของบ้าน เจ้าของบ้านกลัวนางนาค เลยมุดหัวเข้ามุ้ง ขโมยเก็บเอาของไปสบาย ค่ำลงก็ต้องล้อมต้องนั่งกองกันยันรุ่งก็มี”

เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ทราบเรื่อง ท่านจึงไปค้างที่วัดมหาบุศย์ “พอค่ำท่านก็ไปนั่งอยู่ปากหลุม แล้วท่านเรียกนางนาคปีศาจขึ้นมาสนทนากัน… ลงผลท้ายที่สุดท่านได้เจาะเอากระดูกหน้าผากนางนาคที่เขาฝังไว้มาได้ แล้วท่านมานั่งขัดเกลาจนเป็นมัน ท่านนำขึ้นมาวัดระฆัง ท่านลงยันต์เป็นอักษรไว้ตลอด เจาะเป็นปั้นเหน่งคาดเอว… ปีศาจในพระโขนงก็หายกำเริบซาลง”

สมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นพระเกจิเถราจารย์ผู้ทรงคุณทางด้านคาถาอาคม (โดยเฉพาะวัตถุมงคล “พระสมเด็จ” ของท่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในเบญจภาคี หรือสุดยอดของพระเครื่องวัตถุมงคลหนึ่งในห้าของประเทศไทย)  ด้วยปฏิปทาจริยาวัตรและคุณวิเศษอัศจรรย์ของท่าน ทำให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยเคารพนับถือว่าท่านเป็นอมตะเถราจารย์รูปหนึ่งของเมืองไทย และมีผู้นับถือจำนวนมากในปัจจุบัน

ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์มรณภาพเมื่อวันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน 2415 บนศาลาใหญ่วัดบางขุนพรหม (วัดอินทรวิหารในปัจจุบัน)  ขณะนั้นท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม แต่ได้ไปควบคุมการก่อสร้างองค์หลวงพ่อโตที่วัดบางขุมพรหม การก่อสร้างดำเนินมาได้เพียงพระนาภี (สะดือ) ท่านก็มรณภาพ

การก่อสร้างองค์หลวงพ่อโตดำเนินต่อมาด้วยแรงศรัทธาของเจ้าอาวาสวัดอินทรวิหารรูปต่อๆ มา ใช้เวลาทั้งสิ้น 60 ปี จึงแล้วเสร็จในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 (พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร สูง 16 วา กว้าง 5 วา 2 ศอก)

สมเด็จพระพุฒาจารย์มีชีวิตอยู่ในสมณเพศ 65 พรรษา สิริอายุ 84 ปี 2 เดือน 5 วัน

Written by ksamphan

January 20, 2012 at 9:09 am

Posted in อื่นๆ

One Response

Subscribe to comments with RSS.

  1. สิ่งที่ผมต้องออกมาพูด เพื่อที่ลดการศูนย์เสียให้น้อยที่สุดในระบบความจริง ไม่ว่าจะฝ่ายใดหรือศาสนาใดก็ตาม ต้องทำให้เหมือน ขี้จิ๊งจก ที่สลับด้านกัน โดยที่ สีขาวแทนสีดำ สีดำแทนสีขาว ระบบนี้เมื่อทำได้แล้วจะสงบ เหตุผลที่เข้ามาบอกในนี้เพื่อเป็นกลางที่สุด

    Pik

    August 22, 2012 at 3:56 pm


Leave a comment