K. Samphan

พ่อมดกับการเมือง

with 2 comments

phoenix1.jpg

ผมอ่าน แฮร์รี พอตเตอร์ ทั้ง 3 เล่มแรกด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลินไม่น้อย แต่ไม่ทราบว่าเพราะอะไร จู่ๆ ความสนใจใคร่รู้ก็หายไปดื้อๆ ทำให้ไม่เคยได้อ่าน แฮร์รี พอตเตอร์ เล่มต่อๆ มาอีกเลย 

เช่นเดียวกับหนัง ในช่วงที่มีข่าวครึกโครมว่าจะมีการสร้างหนังจากนวนิยายเรื่องดังกล่าว จนกระทั่ง Harry Potter and the Philosopher’s Stone (Chris Columbus, 2001) เปิดตัวออกมา ความพิสมัยใหลหลงเกี่ยวกับ แฮร์รี พอตเตอร์ ของผมก็สูญสลายไปจนหมดสิ้นแล้ว ผมไม่เคยได้ดูซีรี่ย์แฮร์รี พอตเตอร์ ทั้ง 4 เรื่องก่อนหน้านี้เลย แต่อะไรๆ ในชีวิตล้วนไม่หยุดนิ่งคงที่ ผมเริ่มต้นซีรี่ย์แฮร์รี พอตเตอร์ ด้วยหนังภาคที่ 5–Harry Potter and the Order of the Phoenix (David Yates, 2007) ซึ่งทำให้ยากที่จะเขียนถึงหนังเรื่องนี้ได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้ผมรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของ แฮร์รี พอตเตอร์ จากที่ผมได้อ่านครั้งสุดท้ายเมื่อ 4-5 ปีก่อน จนกระทั่งมันกลายเป็นหนังภาคที่ 5 แล้วในวันนี้  

เช่นเดียวกับ เจ. เค. โรว์ลิง ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกและที่เกิดขึ้นขึ้นรอบๆ ตัวเธอ ทำให้ตัวเธอในวันนี้แตกต่างจากตัวเธอในวันแรกที่จับปากกาเขียนนวนิยายเรื่องนี้ อย่างน้อยก็ฐานะทางการเงินและชื่อเสียงที่เธอมีมากขึ้น และแน่นอน ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมส่งผลต่อนวนิยายของเธออย่างยากที่จะปฏิเสธ

สิ่งแรกที่ผมรู้สึกหลังจากได้ดูหนังภาคที่ 5 ก็คือ นี่เป็นหนังที่สร้างจากวรรณกรรมเยาวชนที่ผมเคยอ่านจริงหรือเปล่า เพราะดูเหมือนว่าเมื่อแฮร์รีกับเพื่อนๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เนื้อหาของนวนิยายเรื่องนี้ก็พัฒนาไปพร้อมๆ กัน ความสนุกสนานตื่นเต้นจากการใช้เวทมนตร์ของบรรดาพ่อมดแม่มด สัตว์ประหลาดสุดแสนพิสดาร เรื่องราวสนุกๆ ที่ฮอกวอตส์ หรือฉากการเล่นควิชดิชอันน่าตื่นตาตื่นใจ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนถูกลดความสำคัญลง–หรือไม่จำเป็นจะต้องเน้นอีกต่อไปแล้ว–เพราะสิ่งที่หนังให้น้ำหนักมากกว่าก็คือ การต่อสู้ของแฮร์รี (ทั้งกับลอร์ดโวลเดอมอร์และกับตัวเขาเอง) ความสัมพันธ์ระหว่างแฮร์รีกับตัวละครอื่นๆ แนวคิดทางการเมืองที่เยาะหยันอำนาจและมันสมองของผู้ปกครอง รวมถึงการจิกกัดสื่อมวลชนและคนรับสื่ออย่างแสบสันต์

แฮรีย์ พอตเตอร์ จึงเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่มีเนื้อหาเติบโตไปพร้อมๆ กับผู้อ่าน ซึ่งผมเชื่อว่า เจ. เค. โรว์ลิ่ง ตั้งใจให้มันเป็นไปเช่นนั้น 

บรรยากาศของ Harry Potter and the Order of the Phoenix มืดทึมและตึงเครียดแทบจะทั้งเรื่อง แฮร์รี พอตเตอร์ (Daniel Radcliffe) กับผมทรงใหม่ (ที่แสดงว่าเขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว) มีสีหน้าตึงเครียดอยู่ตลอดเวลา ผู้กำกับ เดวิด เยตส์ นั้นเน้นไปที่อารมณ์ความรู้สึกของแฮร์รีค่อนข้างมาก (นั่นจึงทำให้ ดาเนียล แรดคลิฟฟ์ มีโอกาสแสดงฝีมือในการแสดงอย่างเต็มที่) เพราะในภาคนี้ไม่เพียงแต่เขาต้องเผชิญกับแรงกดดันจาก โดโลเรส อัมบริดจ์ อาจารย์ใหญ่คนใหม่เท่านั้น แต่เขายังต้องกังวลกับความฝันประหลาดและการที่ลอร์ดโวลเดอมอร์เข้ามาอ่านจิตใจของเขาอีกด้วย

สำหรับ โดโรเลส อัมบริดจ์ (Imelda Staunton) กับ คอนีเลียส ฟัดจ์ (Robert Hardy) ทั้งคู่เปรียบเสมือนตัวแทนของบรรดาผู้ปกครองที่โรว์ลิ่งวิพากษ์วิจารณ์อย่างเต็มที่ อัมบริดจ์นั้นเป็นเลขานุการของฟัดจ์ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเวทมนตร์ เธอถูกส่งมาที่ฮอกวอตส์เพื่อจับตาดูความเคลื่อนไหวของศาสตราจารย์ อัลบัส ดัมเบิลดอร์ (Michael Gambon) ที่ฟัดจ์เชื่อว่ากำลังวางแผนเลื่อยขาเก้าอี้รัฐมนตรีของเขาอยู่ ในฐานะอาจารย์สอนวิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืดคนใหม่ เธอไม่ยอมสอนเนื้อหาภาคปฏิบัติให้กับนักเรียนของเธอ (เพราะกระทรวงเวทมนตร์ระแวงดัมเบิลดอร์) แถมยังมีความเชื่อว่ากฎระเบียบนั้นเป็นสิ่งจำเป็น (ที่สุด) ในการดูแลความสงบเรียบร้อยและความประพฤติของนักเรียน (ดูฉากที่เธอใช้ไม้เท้าแยกนักเรียนที่กำลังจูบกันหรือปรับเครื่องแต่งกายของนักเรียนให้เรียบร้อยแล้ว ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปในสมัยที่ตัวเองยังนุ่งขาสั้น–ไม่คิดว่าที่อังกฤษก็มีแบบนี้เหมือนกัน) นอกจากนี้ เมื่อเธอได้เป็นอาจารย์ใหญ่คนใหม่ วิธีการที่เธอใช้ดูแลฮอกวอตส์ก็คือการออกกฎระเบียบห้ามในทุกๆ เรื่องที่เธอไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

ภาพลักษณ์ของอัมบริดจ์อาจจะดูไม่ต่างจากคุณครูหัวโบราณที่เชื่อมั่นในการลงโทษ การใช้กฎระเบียบ และนิยมชมชอบลูกศิษย์ที่ยินยอมอยู่ในโอวาทแต่โดยดี แต่แท้ที่จริงแล้ว แนวความคิดเช่นนี้ก็ยังคงฝังแน่นต่อเนื่องอยู่ในสังคมจวบจนกระทั่งปัจจุบัน โดยเฉพาะในสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “รัฐชาติ” ของมนุษย์

โรว์ลิงวิพากษ์วิจารณ์สภาวะของโลกยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 อย่างเผ็ดร้อนผ่านตัวละครของอัมบริดจ์ ดูจากหนัง เธอคงไม่เห็นด้วยกับมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลอเมริกัน (รวมถึงรัฐบาลอังกฤษเอง) ที่ใช้ในการต่อสู้กับการก่อการร้าย หรือเธออาจจะเห็นว่ากฎระเบียบที่ผู้ปกครองนิยมชมชอบนั้น ไม่ใช่วิธีการที่สามารถนำไปสู่เป้าหมายที่พวกเขาต้องการได้ หรืออาจจะกล่าวตรงๆ ได้ว่า มันคือวิธีการที่ผิดพลาด 

เฮอร์ไมโอนี (Emma Watson) เสนอให้แฮร์รีตั้ง “กองทัพดัมเบิลดอร์” ขึ้นมา เพื่อฝึกสอนเรื่องการใช้เวทมนตร์ในระหว่างพวกนักเรียนด้วยกัน เนื่องจากอัมบริดจ์ไม่ยอมสอน

คู่แฝดเฟร็ดกับจอร์จ (James และ Oliver Phelps) ทนพฤติกรรมของอัมบริดจ์ไม่ไหว พวกเขายอมทิ้งอนาคตทางการศึกษาด้วยการป่วนจนอัมบริดจ์กลายเป็นตัวตลก และทำให้กฎต่างๆ ที่ติดไว้บนกำแพงพังลงมา อันเป็นสัญลักษณ์ว่า นับจากนี้ไป กฎข้อบังคับที่อัมบริดจ์ตั้งขึ้นจะไม่มีผลอีกต่อไปแล้ว 

โรว์ลิงอาจจะกำลังบอกว่า การใช้วิธีกดบังคับเพียงอย่างเดียวนั้นไม่มีวันจะใช้ได้ผล อย่าว่าแต่ในโรงเรียนของพวกพ่อมดแม่มดเลย 

ในขณะที่ คอนีเลียส ฟัดจ์ อาจเป็นตัวแทนของบรรดาผู้มีอำนาจ ที่เมื่อขึ้นมามีอำนาจแล้วก็มักจะมองคนอื่นในแง่ร้ายไปเสียทั้งหมด (คนไทยคงจะคุ้นเคยกับเรื่องนี้เป็นอย่างดีในสมัยท่านผู้นำคนก่อน) ด้วยความหวาดระแวงว่าดัมเบิลดอร์จะแย่งอำนาจไปจากเขา ฟัดจ์จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อที่จะรู้ความเคลื่อนไหวของดัมเบิลดอร์ และเมื่อมีโอกาส เขาก็จะต้องลงมือเล่นงานดัมเบิลดอร์เสียก่อนที่ตัวเขาจะถูกเล่นงาน และสิ่งหนึ่งที่ฟัดจ์ใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานดัมเบิลดอร์ก็คือ “หนังสือพิมพ์”

ในหนัง เราจะพบว่าหนังสือพิมพ์มีอิทธิพลอย่างมากในสังคม แม่ของ ซีมัส ฟินนิกัน (Devon Murray) ถึงขนาดสั่งห้ามเขาคบกับแฮร์รีอันเนื่องมาจากข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์ เช่นเดียวกับที่เมื่อมีเหตุการณ์ใหญ่ๆ เกิดขึ้น ข้อความพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์–ทั้งจริงและไม่จริง–ก็จะโผล่ออกมาเป็นระยะ  

โรว์ลิงอาจจะกำลังบอกว่า คนเราสามารถรักกันหรือเกลียดกันได้เพียงคำไม่กี่คำที่ปรากฏบนหน้ากระดาษ และไปๆ มาๆ ผู้ที่ทำหน้าที่กำหนด “ความจริง” ในสังคม ก็คือผู้ที่มีอำนาจบรรจุคำเหล่านั้นบนหน้ากระดาษนั่นเอง

ผมไม่รู้ว่าการขับรถจี๊ป เชโรกี บรรทุกระเบิดพุ่งเข้าชนสนามบินกลาสโกว์เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม และมาตรการต่างๆ ที่จะตามมาจากทางการของอังกฤษ หรือการรับตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของ กอร์ดอน บราวน์ จะส่งผลต่อซีรี่ย์แฮร์รี พอตเตอร์ ในภาคต่อๆ ไปหรือไม่ อย่างไร

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมแน่ใจก็คือ นับจากนี้ไป เราจะได้เห็นบรรดาพ่อมดแม่มดเล่นการเมืองกันอย่างสนุกสนานเชียวล่ะครับ

Written by ksamphan

July 15, 2007 at 8:31 am

2 Responses

Subscribe to comments with RSS.

  1. เขียนวิจารณ์ได้ถึงพริก ถึงขิงดีครับ

    ผมก็คงคล้ายๆคุณที่เลิกอ่านแฮรี่ตั้งแต่เล่ม 5 ไม่ใช่ว่าเบื่อหรือหมดอารมณ์ล่มปากอ่าวซะเฉยๆ
    แต่พอดีดันมีคนใจดีมาบอกตอนจบซะก่อน
    เหมือนกับ ก่อนผมดูซิกเซนต์ แล้วมีเพื่อนบอกว่า บรูซ วิลลิส เป็นผี

    ด้วยรักและเคารพ

    :->m’26

    ป.ล ผมตามมาจากบล็อคคุณตุลย์ครับ

    kanapo

    July 25, 2007 at 11:57 am

  2. เล่มห้ายาวมากๆ เลย อ่านไปเหนื่อยไป ส่วนเล่มหกยังไม่ได้อ่าน หนังก็ยังไม่ได้ดู

    pickmegadance

    August 6, 2007 at 12:01 pm


Leave a reply to pickmegadance Cancel reply